วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

จดหมายเปิดผนึกถึงสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 5 ตุลาคม 2554 ขอให้ตรวจสอบและยุติสนับสนุนเผด็จการของ 'สมคิด'

จดหมายเปิดผนึกถึงสภา มธ. ขอให้ตรวจสอบและยุติสนับสนุนเผด็จการของ 'สมคิด'

 

จดหมายเปิดผนึกถึงสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ 5 ตุลาคม 2554

 

เรื่อง    ขอให้ตรวจสอบและยุติพฤติกรรมสนับสนุนระบอบเผด็จการของ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีคนปัจจุบัน

เรียน    นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

1. ด้วยปรากฎหลักฐานอย่างชัดเจนในหลายโอกาสที่ผ่านมาว่า นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีผู้นี้ได้นำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าสนับสนุนการปฎิวัติรัฐประหารและการมีส่วนเกื้อกูลสนับสนุนในการปราบปรามสังหารประชาชน และยังเคยเป็นเลขานุการสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างความแตกแยกให้กับประเทศไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นอกจากนี้ยังแสดงตนปกป้องการรัฐประหารในทุกรูปแบบ ควบคู่ไปกับการนำพากลุ่มอาจารย์จำนวนหนึ่งให้ร่วมกันสนับสนุนเผด็จการ

2. นอกจากนี้ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ยังบังอาจแสดงออกโดยเปิดเผยหมิ่นหยามผู้ประศาสน์การและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ว่ากระทำการในลักษณะเดียวกับการรัฐประหาร ทั้งที่ตนเองก็จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และควรเข้าใจได้เป็นอย่างดีว่า ท่านผู้ก่อตั้งและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ยึดถือหลักการประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายสูงสุดมาโดยตลอด การเสนอข้อความดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นการเนรคุณต่อบรรพชนผู้ทรงคุณูปการของมหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง เพราะท่านผู้ประศาสน์การนั้น คือเสาเอกและผู้ก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศไทยมาแต่เริ่มต้น

3. การกระทำของอธิการบดีผู้นี้นั้น ล้วนมุ่งเน้นในการใช้มหาวิทยาลัยรับใช้นักการเมืองเผด็จการตลอดเวลา แสดงให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่า เป็นผู้บิดเบือนและทรยศต่อหลักการสำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั่นคือหลักการประชาธิปไตย และการปกครองโดยธรรมะและกฎหมาย สนับสนุนการรัฐประหาร และยังเข้าร่วมเป็นมือเท้าของกลุ่มเผด็จการที่ปล้นชิงประชาธิปไตยไปจากประชาชน จนได้รับการตอบแทนด้วยตำแหน่งและผลประโยชน์ต่าง ๆ อันน่าจะรวมถึงตำแหน่งอธิการบดีธรรมศาสตร์ด้วย การทรยศต่อหลักการประชาธิปไตยเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ชาวธรรมศาสตร์ทุกรุ่นทุกวัยไม่อาจรับได้อย่างเด็ดขาด

พวกข้าพเจ้าผู้มีรายนามต่อท้ายนี้ ซึ่งเป็นศิษย์ธรรมศาสตร์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยจนถึงยุคปัจจุบัน จึงขอเรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาพฤติกรรมของนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ รวมทั้งขอให้ทบทวนและยุติพฤติกรรมเหล่านั้นในทันที และให้สภามหาวิทยาลัย ฯ ร่วมพิจารณาอย่างถี่ถ้วนด้วยว่า บุคคลผู้ที่ทำลายหลักการประชาธิปไตยของมหาวิทยาลัยอย่างรุนแรงเช่นนี้ สมควรจะได้รับโทษประการใด

จึงเรียนมาเพื่อขอให้สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการพิจารณาโทษของอธิการบดีผู้นี้ตามแต่มหาวิทยาลัยจะเห็นสมควร โดยพวกข้าพเจ้าจะรอรับทราบผลการพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อไป

                                                                                                          ขอแสดงความนับถือ
 
 
สัมผัส พึ่งประดิษฐ์                                 ตมธก.
สำราญ                                                  ตมธก.
ประสิทธิ                                                ตมธก.
สายัณห์ สุธรรมสมัย                               มธ. 2511
ธนศักดิ์ ฤกษ์เจริญพร                             มธ. 2511
ชวลิต ณ นคร                                        มธ. 2511
สุรชัย ณ ป้อมเพชร                                มธ. 2511 และ สส.มธ. ปี 12
บุญยงค์ มหาวิเศษศิลป์                         กรรมการ อมธ. 2516
สมาน เลิศวงศ์รัตน์                                 นายก อมธ. 2518
ประจวบ พยัคฆพันธุ์                               รองนายก อมธ. 2516
สุชาติ ธาดาธำรงเวช                             กรรมการ อมธ. 2516 และอดีต รมต. คลัง
มณฑล ชาติสุวรรณ                               รองประธานสภานักศึกษา และ สส.มธ. 4 ปี
ประสาร สินสวัสดิ์                                   กรรมการ อมธ. 2516, รองนายก อมธ. 2519 และรองประธานกรรมการบัณฑิต                                                                   2518
วิสูตร ทิพวิรัตน์พจนา                              กรรมการ อมธ. 2516
อำนาจ สถาวรฤทธิ์                                มธ. 2516
กฤษฎางค์ นุชจรัส                                 นายก อมธ. 2521
ดวงใจ แอรักกุล                                     มธ. 2519
วิไลลักษณ์ หวังธนาโชติ                        มธ. 2518
พิสุทธิ์ พุทธิกุลสถิต                                มธ. 2517
สถิต สิริสวัสดิ์                                        กรรมการ อมธ. 2517

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น