วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2554

World Debut of Rinspeed sQuba, First Underwater "Flying" Car


อัปโหลดโดย เมื่อ 14 ก.พ. 2008

Get the complete story athttp://www.theautochannel.com/news/2008/02/14/077713.html
Thirty years after the movie thriller "The Spy Who Loved Me" hit the silver screen, 'sQuba' is the first car that can actually fly under water. The Rinspeed sQuba will have it's world debut at the 2008 Geneva Motor Show.

วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

นิวยอร์กไทมส์: น้ำท่วมไทยเกิดจากฝีมือมนุษย์

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

นิวยอร์กไทมส์: น้ำท่วมไทยเกิดจากฝีมือมนุษย์

ที่มา ประชาไท

เซธ เมย์เดนส์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติของไทย ชี้อุทกภัยที่เกิดขึ้นและลามไปหลายพื้นที่ในเวลานี้ ไม่ได้มาจากปริมาณน้ำฝนที่มากผิดปกติ หากแต่เป็นเพราะการวางแผนการจัดการน้ำและผังเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพ

กรุงเทพ - ท่ามกลางอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย ที่ส่งผลให้จังหวัดต่างๆ และนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงโบราณสถานกลายเป็นเมืองบาดาลอยู่ใต้น้ำ ผู้เชี่ยวชาญในการจัดการน้ำชี้ว่า สาเหตุของหายนะครั้งนี้ เป็นผลมาจากฝีมือของมนุษย์

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปัจจัยหลักๆ ของอุทกภัยในครั้งนี้ คือการตัดไม้ทำลายป่า การปลูกสิ่งก่อสร้างที่มากเกินไปในเขตพื้นที่รับน้ำ การสร้างเขื่อนและการหันเหธารน้ำธรรมชาติ การเจริญเติบโตของเมืองที่กระจัดกระจาย รวมถึงคูคลองในเมืองที่เริ่มอุดตันและการขาดการวางแผน เขาชี้ว่า เขาเคยเตือนทางการไปแล้วหลายครั้งในเรื่องนี้ หากแต่ก็ไม่มีผล

"ผมได้พยายามจะบอกทางการไม่รู้กี่ครั้งกี่หน แต่เขาบอกผมว่าผมน่ะบ้าไปเอง" ดร. สมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ผู้ซึ่งโด่งดังจากการคาดการณ์ภัยพิบัติสึนามิหลายปีก่อนที่คลื่นยักษ์จะเข้า ถล่มชายฝั่งในพ.ศ. 2547

ฤดูพายุร้อนในปีนี้ นำหายนะมาสู่กัมพูชา ฟิลลิปินส์ เวียดนามและไทย ซึ่งมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 283 คน

ในฟิลิปปินส์ มีหลายพันคนที่ต้องอพยพเนื่องจากพายุไต้ฝุ่นที่เข้าถล่มประเทศ ส่วนนาข้าวขั้นบันไดขนาfใหญ่ที่เมืองบานาวของฟิลลิปินส์ ก็ถูกโคลนถล่มทำลายเสียหายย่อยยับ

เช่นเดียวกับในกัมพูชา มีรายงานว่าที่กรุงเสียมราฐ เมืองหลวงของกัมพูชา ระดับน้ำก็สูงขึ้นมาระดับเข่า และกระแสน้ำเริ่มท่วมนครวัดแล้ว

ทางการไทยได้แจ้งเตือนว่า ในไม่อีกกี่วันนี้ กรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมด้วยน้ำหลากจากภาคเหนือ น้ำหนุนและน้ำฝนจากพายุฤดูร้อน ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ก็ได้เริ่มขนกระสอบทรายมากั้นไว้เพื่อเตรียมความพร้อม และกว้านซื้ออาหารแห้ง น้ำดืม แบตเตอรี่ และเทียนไขมากักตุน

ส่วนการเตรียมการในกรุงเทพฯ ก็เป็นที่วุ่นวายมากทีเดียว กระสอบทรายเรียงรายกันยาวกว่า 45 ไมล์ ถูกวางกั้นตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนแนวกั้นนำและคูคลองก็กำลังสร้างขึ้นมารองรับกระแสน้ำ และประชาชนก็ได้รับคำเตือนจากทางการให้เตรียมพร้อมอยู่เสมอ

ในขณะที่น้ำไหลบ่าลงจากทิศใต้จากจังหวัดนครสวรรคและอยุธยา ทำให้โบราณสถานจมอยู่ใต้น้ำ สื่อท้องถิ่นรายงานว่าทหารก็ได้เตรียมขนย้ายกระสอบทรายกว่า 150,000 ถุง ไล่ลงตามกระแสน้ำจากที่ที่ประสบความเสียหายแห่งหนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งมีความเสี่ยงต่อไป

ในขณะที่รัฐบาลพยายามปกป้องพื้นที่ในตัวเมืองและพื้นที่อุตสาหกรรมโดยการ หันเหน้ำไปทางอื่นเท่าที่จะทำได้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องเผชิญกับการตัดสินใจว่าจะเลือกช่วยเมืองไหน และเมืองไหนที่จะต้องเสียสละ

ในอยุธยา มีรายงานว่ามีชาวบ้านสองกลุ่มที่เกิดการทะเลาะวิวาทเรื่องทำนบที่กั้นน้ำจาก ฝั่งหนึ่ง ไม่ให้ไหลเข้าไปอีกฝั่งหนึ่ง ชาวบ้านฝั่งที่โชคร้ายรับน้ำท่วมเกิดความไม่พอใจ ได้ขุดรูตรงคันกั้นน้ำเพื่อปล่อยน้ำให้ไหลไปยังอีกฝั่งหนึ่ง จึงเกิดการยิงต่อสู้กัน ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ ยังมีรายงานว่า ทหารได้ถูกส่งไปยังคันกั้นน้ำในบริเวณต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังคันกั้นน้ำด้วย

เอวา นาร์คีวิกซ์ ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารองค์กร Elephantstay ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรที่ดูแลช้างสูงอายุ ให้ข้อมูลว่า มีช้างราว 15 ตัวในอยุธยาที่ถูกปล่อยเกาะ โดยพวกมันหนีเอาตัวรอดโดยการปีนขึ้นหนีน้ำบนกำแพงยอดสูง ช้างโขลงนั้นประกอบด้วยแม่ช้างเจ็ดตัว และลูกๆของมัน ในจำนวนนั้น ยังรวมถึงช้างอายุ 9 ปีตัวหนึ่งที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้วยทักษะการวาดภาพด้วยงวง

"ถ้าหากความช่วยเหลือที่เหมาะสมยังไม่มาถึงเร็วๆ นี้ แม่และลูกช้างจะอยู่ในอยู่ในอันตรายมาก" นาร์คีวิกซ์กล่าว เธอเสริมว่า ช้างแต่ละตัวบริโภคอาหารมากถึง 440 ปอนด์ (ราว 200 กิโลกรัม) ต่อวัน แต่เรือที่อาจใช้ขนส่งกล้วย สับปะรดและอ้อย จำเป็นต้องกู้ภัยและช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ตามที่ต่างๆ

นายสมิทธ นักอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ถูกทำให้เลวร้ายกว่าเดิม เป็นเพราะแผนการจัดการน้ำที่ไม่ดี

"พวกเขาคำนวณระดับน้ำผิดไป และไม่ได้ปล่อยน้ำออกจากเขื่อนให้เร็วพอในฤดูฝน" เขากล่าว "และตอนนี้ระดับน้ำในเขื่อนก็เกือบจะเต็มหมดแล้ว พอเมื่อเขาปล่อยน้ำในเวลานี้ น้ำก็ไหลลงมายังพื้นที่ราบต่ำ"

เขากล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นอุปสรรคต่อกระแสการไหลของน้ำ เนื่องจากนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายยังคงดำเนินการการปลูกสร้างต่อไป ไม่หยุดหย่อน

"พวกเขาสร้างอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ควรจะเป็นอ่างเก็บน้ำ" เขากล่าว "และเมื่อพวกเขาสร้างเขื่อนหรือทำนบกั้นน้ำตรงนั้นขึ้นมา มันก็จะปิดกั้นการไหลของกระแสน้ำ ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นทางผ่านของน้ำในฤดูฝน"

เมื่อกระแสน้ำท่วมไหลบ่าเข้ามายังกรุงเทพฯ มันก็จะไหลเข้ามายังมหานครที่สูญเสียปราการกั้นน้ำตามธรรมชาติไปแล้ว กล่าวคือ คูคลองต่างๆ ที่ควรจะรองรับน้ำ ได้อุดตันไปด้วยเศษขยะต่างๆ ที่มาพร้อมกับประชากรที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่นในเมือง

"การวางผังเมืองของเรานั้นไร้ประสิทธิภาพ" นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

"ฤดูกาลมิได้เปลี่ยนไปมากเท่าไหร่หรอก" เขากล่าว "เรามักจะมีน้ำเยอะมากเป็นพิเศษในฤดูฝน แต่ถ้าหากเรายังไม่มีแผนการจัดการน้ำที่ดี เราก็จะเผชิญกับปัญหานี้อีกในปีหน้า"

เขากล่าวต่อว่า มนุษย์และธรรมชาติเริ่มขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ และการอยู่ร่วมกันก็กลายเป็นสมรภูมิขนาดย่อย "นี่เป็นสัญญานที่เตือนให้เรารู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะอนุรักษ์ผืนป่า... เราทำลายธรรมชาติไปมากพอแล้ว และตอนนี้ ก็เสมือนว่าเป็นเวลาที่ธรรมชาติจะขอเอาคืน"

ที่มา

แปลและเรียบเรียงจาก Seth Mydans. As Thailand Floods Spread, Experts Blame Officials, Not Rains. New York Times. 13/10/54
http://www.nytimes.com/2011/10/14/world/asia/a-natural-disaster-in-thailand-guided-by-human-hand.html

หมายเหตุ: ประชาไทได้แก้ไขข้อความและสำนวนตามคำท้วงติงจากผู้อ่านเพื่อความถูกต้องและสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 54 เวลา 7.50 น.

วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

จดหมายเปิดผนึกถึงสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 5 ตุลาคม 2554 ขอให้ตรวจสอบและยุติสนับสนุนเผด็จการของ 'สมคิด'

จดหมายเปิดผนึกถึงสภา มธ. ขอให้ตรวจสอบและยุติสนับสนุนเผด็จการของ 'สมคิด'

 

จดหมายเปิดผนึกถึงสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ 5 ตุลาคม 2554

 

เรื่อง    ขอให้ตรวจสอบและยุติพฤติกรรมสนับสนุนระบอบเผด็จการของ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีคนปัจจุบัน

เรียน    นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

1. ด้วยปรากฎหลักฐานอย่างชัดเจนในหลายโอกาสที่ผ่านมาว่า นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีผู้นี้ได้นำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าสนับสนุนการปฎิวัติรัฐประหารและการมีส่วนเกื้อกูลสนับสนุนในการปราบปรามสังหารประชาชน และยังเคยเป็นเลขานุการสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างความแตกแยกให้กับประเทศไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นอกจากนี้ยังแสดงตนปกป้องการรัฐประหารในทุกรูปแบบ ควบคู่ไปกับการนำพากลุ่มอาจารย์จำนวนหนึ่งให้ร่วมกันสนับสนุนเผด็จการ

2. นอกจากนี้ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ยังบังอาจแสดงออกโดยเปิดเผยหมิ่นหยามผู้ประศาสน์การและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ว่ากระทำการในลักษณะเดียวกับการรัฐประหาร ทั้งที่ตนเองก็จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และควรเข้าใจได้เป็นอย่างดีว่า ท่านผู้ก่อตั้งและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น ยึดถือหลักการประชาธิปไตยเป็นเป้าหมายสูงสุดมาโดยตลอด การเสนอข้อความดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นการเนรคุณต่อบรรพชนผู้ทรงคุณูปการของมหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง เพราะท่านผู้ประศาสน์การนั้น คือเสาเอกและผู้ก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศไทยมาแต่เริ่มต้น

3. การกระทำของอธิการบดีผู้นี้นั้น ล้วนมุ่งเน้นในการใช้มหาวิทยาลัยรับใช้นักการเมืองเผด็จการตลอดเวลา แสดงให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่า เป็นผู้บิดเบือนและทรยศต่อหลักการสำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั่นคือหลักการประชาธิปไตย และการปกครองโดยธรรมะและกฎหมาย สนับสนุนการรัฐประหาร และยังเข้าร่วมเป็นมือเท้าของกลุ่มเผด็จการที่ปล้นชิงประชาธิปไตยไปจากประชาชน จนได้รับการตอบแทนด้วยตำแหน่งและผลประโยชน์ต่าง ๆ อันน่าจะรวมถึงตำแหน่งอธิการบดีธรรมศาสตร์ด้วย การทรยศต่อหลักการประชาธิปไตยเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ชาวธรรมศาสตร์ทุกรุ่นทุกวัยไม่อาจรับได้อย่างเด็ดขาด

พวกข้าพเจ้าผู้มีรายนามต่อท้ายนี้ ซึ่งเป็นศิษย์ธรรมศาสตร์ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยจนถึงยุคปัจจุบัน จึงขอเรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัยพิจารณาพฤติกรรมของนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ รวมทั้งขอให้ทบทวนและยุติพฤติกรรมเหล่านั้นในทันที และให้สภามหาวิทยาลัย ฯ ร่วมพิจารณาอย่างถี่ถ้วนด้วยว่า บุคคลผู้ที่ทำลายหลักการประชาธิปไตยของมหาวิทยาลัยอย่างรุนแรงเช่นนี้ สมควรจะได้รับโทษประการใด

จึงเรียนมาเพื่อขอให้สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการพิจารณาโทษของอธิการบดีผู้นี้ตามแต่มหาวิทยาลัยจะเห็นสมควร โดยพวกข้าพเจ้าจะรอรับทราบผลการพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อไป

                                                                                                          ขอแสดงความนับถือ
 
 
สัมผัส พึ่งประดิษฐ์                                 ตมธก.
สำราญ                                                  ตมธก.
ประสิทธิ                                                ตมธก.
สายัณห์ สุธรรมสมัย                               มธ. 2511
ธนศักดิ์ ฤกษ์เจริญพร                             มธ. 2511
ชวลิต ณ นคร                                        มธ. 2511
สุรชัย ณ ป้อมเพชร                                มธ. 2511 และ สส.มธ. ปี 12
บุญยงค์ มหาวิเศษศิลป์                         กรรมการ อมธ. 2516
สมาน เลิศวงศ์รัตน์                                 นายก อมธ. 2518
ประจวบ พยัคฆพันธุ์                               รองนายก อมธ. 2516
สุชาติ ธาดาธำรงเวช                             กรรมการ อมธ. 2516 และอดีต รมต. คลัง
มณฑล ชาติสุวรรณ                               รองประธานสภานักศึกษา และ สส.มธ. 4 ปี
ประสาร สินสวัสดิ์                                   กรรมการ อมธ. 2516, รองนายก อมธ. 2519 และรองประธานกรรมการบัณฑิต                                                                   2518
วิสูตร ทิพวิรัตน์พจนา                              กรรมการ อมธ. 2516
อำนาจ สถาวรฤทธิ์                                มธ. 2516
กฤษฎางค์ นุชจรัส                                 นายก อมธ. 2521
ดวงใจ แอรักกุล                                     มธ. 2519
วิไลลักษณ์ หวังธนาโชติ                        มธ. 2518
พิสุทธิ์ พุทธิกุลสถิต                                มธ. 2517
สถิต สิริสวัสดิ์                                        กรรมการ อมธ. 2517

“คณะศิษย์เก่า มธ.” แถลงไล่ “สมคิด” พ้นอธิการบดี ชี้เหยียดปรีดีเท่ากับเหยียดหลักการ ปชต.

 

"คณะศิษย์เก่า มธ." แถลงไล่ "สมคิด" พ้นอธิการบดี ชี้เหยียดปรีดีเท่ากับเหยียดหลักการ ปชต.

"คณะศิษย์เก่า มธ." ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเรียกร้องไล่ "สมคิด เลิศไพฑูรย์" ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มี "วีระกานต์ มุสิกพงศ์" อดีตแกนนำ นปช ร่วมวงแถลงข่าวด้วย ร่อนจดหมายเปิดผนึก-แถลงการณ์ สวดยับอธิการบดีมธ.ทั้งคนก่อนหน้าและคนปัจจุบันนำมหาวิทยาลัยรับใช้ระบอบเผด็จการ มิหนำซ้ำยังดูหมิ่น "ปรีดี พนมยงค์" ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปทำพิธีขอขมา "ปรีดี" ที่ลานปรีดีที่กลุ่มตนไม่สามารถยับยั้งลัทธิเผด็จการในรั้ว มธ ได้ ปัด ไม่ได้บูชาตัวบุคคลปรีดี เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องหลักการ

สืบเนื่องจากที่ "คณะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์" ได้ออกแถลงการณ์เชิญชวนให้ศิษย์เก่าและประชาชนร่วมชุมนุมขับไล่ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ณ ข้างหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนี้ (5 ตุลาคม) ตามที่สำนักข่าวประชาไทรายงานไปแล้วนั้น ในวันนี้ผู้สื่อข่าวประชาไทได้เดินทางไปสังเกตการณ์กิจกรรมของ "คณะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์" ดังกล่าวที่เริ่มรวมตัวตั้งแต่ก่อนเวลา 10.00 น. โดยมีการตั้งโต๊ะให้ลงนามแสดงเจตนารมณ์ขับไล่นายสมคิดในบริเวณสวนปฏิมากรรมใกล้ทางเข้าออกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งสนามหลวง มีการนำป้ายผ้าขนาดใหญ่ที่มีข้อความโจมตีอธิการบดีมธ.ขึ้นขึงในบริเวณดังกล่าว และยังได้นำพวงหรีดพร้อมข้อความ "อธรรมศาสตร์จงพินาศ" และ "ต่อต้านอธรรมศาสตร์" มาวางบริเวณโต๊ะแถลงข่าวด้วย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งเต๊นท์ขายสินค้าและจัดเตรียมงานรำลึก 6 ตุลา ในบริเวณรอบด้านอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก จึงมีคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งจับกลุ่มยืนดูกิจกรรมของ "คณะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์" อย่างสนใจ ส่วนสมาชิกของ "คณะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์" มีประมาณ 20 คน และมีผู้สื่อข่าวหลายสำนักเดินทางมาทำข่าวอย่างหนาแน่น

เวลาประมาณ 10.10 น. "วีระกานต์ มุสิกพงศ์" อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เคยทำหน้าที่เป็นแกนนำเวที นปช ในเหตุการณ์ประท้วงมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ได้เดินทางมาลงชื่อสนับสนุนการขับไล่อธิการบดีธรรมศาสตร์ในฐานะที่ตนเป็นศิษย์เก่า ทำให้เกิดเสียงฮือฮาจากคนเสื้อแดงที่กำลังดูเหตุการณ์อยู่ อย่างไรก็ตาม มีคนเสื้อแดงบางส่วนกลับเดินหนีนายวีระกานต์ทันทีพร้อมกล่าวว่า ไม่อยากยกมือไหว้

เมื่อถึงเวลา 10.30 น. ผู้จัดกิจกรรมของกลุ่ม "คณะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์" จำนวน 5 คน พร้อมนายวีระกานต์ ได้เริ่มการแถลงข่าว เริ่มด้วยการอ่านแถลงการณ์ในนามศิษย์เก่าทุกรุ่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แสดงความไม่พอใจที่นายสมคิดรับใช้ระบอบรัฐประหารและดูหมิ่น "ปรีดี พนมพงค์" โดยการนำการปฏิวัติ 2475 ของนายปรีดีไปเทียบกับการรัฐประหาร และอ่านจดหมายเปิดผนึกที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน โดยมีคำแปลภาษาอังกฤษด้วย (ทั้งแถลงการณ์และจดหมายเปิดผนึก สามารถอ่านได้ที่เว็บไซต์www.tudemoc.com) เมื่อการอ่านแถลงการณ์และจดหมายเปิดผนึกจบลง ผู้ฟังรอบด้านก็ปรบมือและส่งเสียงโห่ร้อง

หลังจากกิจกรรมแถลงข่าวสิ้นสุดลง ในเวลา 10.50 น. "คณะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์" ได้ออกเดินขบวนมุ่งหน้าไปที่ลานปรีดีพร้อมดอกไม้ธูปเทียนเพื่อทำพิธี โดยประกาศเชิญชวนให้ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์คนอื่นๆและประชาชนทั้งหมดที่ยืนดูเหตุการณ์อยู่ร่วมเดินขบวนไปด้วย ทำให้มีผู้ร่วมขบวนถึงประมาณ 100 คน นำขบวนโดย นายมณฑล เลิศสุวรรณ อดีตรองประธานสภานักศึกษาธรรมศาสตร์ และ นายทวิพัทร บุณฑริกสวัสดิ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างการเดินขบวนไปลานปรีดีได้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นเล็กน้อยเมื่อหน่วยรักษาความปลอดภัยของตึกโดมไม่อนุญาตให้กลุ่มเดินผ่านตึกโดมเพื่อไปยังลานปรีดี จึงต้องใช้เส้นทางอื่นแทน อย่างไรก็ตาม หน่วยรักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มาสังเกตการณ์กิจกรรมของกลุ่มค่อนข้างบางตา และเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคเรียนจึงไม่มีนักศึกษาในบริเวณมหาวิทยาลัยมากนัก

เวลา 11.00 น. ตรง ตัวแทน "คณะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์" ทำพิธีวางธูปเทียนและกล่าวขอขมาบริเวณรูปปั้นปรีดีพนมยงค์ ก่อนจะถ่ายรูปหมู่รวมศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ อันเป็นที่สิ้นสุดของกิจกรรมการประท้วง

นายสายัณห์ สุธรรมสมัย ศิษย์เก่ารุ่นปี มธ. 2511 ได้ให้สัมภาษณ์กับบรรดาผู้สื่อข่าวว่า ตนเองไม่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของใครทั้งสิ้น แต่การสนับสนุนรัฐประหาร และการที่นายสมคิดเรียกนายปรีดีว่าเป็นผู้ทำรัฐประหาร ถือว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ โดยกลุ่มตนจะเคลื่อนไหวต่อไป ไม่มีเป้าหมายที่กำหนดไว้ในการลงชื่อ ประชาชนยังสามารถเข้าร่วมลงชื่อได้ ซึ่งขณะนี้ก็มีผู้เข้าร่วมลงชื่อเป็นจำนวนร้อยคนแล้ว สำหรับคำถามที่ว่าตนเองต้องการเห็นใครมาเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แทนนายสมคิดนั้น นายสายัณห์กล่าวว่า ตนไม่มีตัวเลือกจะเสนอ ให้เป็นเรื่องของสภามหาวิทยาลัยพิจารณาเอง ผู้สื่อข่าวประชาไทได้ถามนายสายัณห์ว่า การแสดงออกครั้งนี้ถือเป็นการบูชาตัวบุคคลนายปรีดี พนมยงค์ หรือไม่ นายสายัณห์จึงชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นเรื่องของบุคคล แต่เป็นเรื่องของหลักการ เนื่องจากนายปรีดีเป็นสัญลักษณ์ของหลักการประชาธิปไตยไทย การดูหมิ่นเหยียดหยามนายปรีดี จึงถือได้ว่าเป็นการไม่เคารพหลักการประชาธิปไตยที่นายปรีดีได้สถาปนาในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ นายสายัณห์เห็นว่า นายปรีดีมิได้ทำรัฐประหาร แต่ถือว่าเป็นการทำ "อภิวัฒน์" หรือ "ปฏิวัติ" สังคมไทย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงราก มิใช่ผลัดเปลี่ยนอำนาจอย่างรัฐประหารเท่านั้น

นายสายัณห์ยังได้เปิดเผยด้วยว่า "คณะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์" ที่เดินทางมาทำกิจกรรมในวันนี้ พอรู้จักกันบ้างอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นรุ่นใกล้เคียงกัน ในตอนแรกที่ทุกคนได้ยินข่าวเรื่องข้อเขียนของนายสมคิดก็เงียบๆ แต่ต่อมาจึงคุยโทรศัพท์ติดต่อกันจนกลายเป็นรวมตัวกันจัดการประท้วงตามที่เห็นในวันนี้

ขณะเดียวกัน นายทวิพัทร บุณฑริกสวัสดิ์ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า ตนเองเห็นว่ากิจกรรมการประท้วงครั้งนี้ก็มีลักษณะบูชาตัวบุคคลส่วนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของหลักการมากกว่า ตนมองว่านายสมคิดไม่ได้เหยียดหยามนายปรีดีอย่างเดียว แต่เหยียดหยามหลักการของนายปรีดีด้วย อย่างไรก็ตาม ตนเองคิดว่าความวุ่นวายครั้งล่าสุดจากคำพูดของนายสมคิดเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ต่อเนื่อง (series) จากสิ่งที่ "กลุ่มนิติราษฎร์" เสนอต่อสังคมไทย ซึ่งการต่อต้านจากนายสมคิดเป็นเพียงหนึ่งเหตุการณ์ และตนมั่นใจว่าจะมีการต่อต้านมาอีกมากในอนาคตอันใกล้

นายทวิพัทรกล่าวเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวประชาไทอีกว่า ในฐานะที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตนเองเห็นว่าเรื่องทั้งหมดตั้งแต่ข้อเสนอของ "กลุ่มนิติราษฎร์" จนมาถึงการประท้วงเพื่อยืนยันหลักการของนายปรีดีในวันนี้ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า "จิตวิญญาณธรรมศาสตร์" ยังไม่ได้ตายจากไปไหน เนื่องจากยังมีฐานแนวคิดว่าด้วยประชาธิปไตยของธรรมศาสตร์และนายปรีดีให้ประชาชนในสมัยปัจจุบันอิงในการเรียกร้องทางการเมือง และตนยังมองว่า "กลุ่มนิติราษฎร์" ได้ช่วยฟื้นฟูจิตวิญญาณดังกล่าวกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง ส่วนคำถามที่ว่าห่วงเรื่องการศึกษาของตนในรั้วธรรมศาสตร์หลังจากออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับอธิการบดีธรรมศาสตร์ในวันนี้หรือไม่ นายทวิพัทรกล่าวว่า ไม่ค่อยห่วงนัก เพราะเท่าที่ทราบก็มีหลายคนในธรรมศาสตร์ที่คิดเห็นต่อนายสมคิดแบบตนมากอยู่แล้ว

นายทวิพัทรยังได้แสดงเจตนาฝากข้อความไปให้นายสมคิดผ่านทางประชาไทด้วยว่า "ละอายใจเหอะ"