วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2554

"โมบายอินเทอร์เน็ต" สุดบูม ค่ายมือถืองัดแพ็กเกจเจาะรายเซ็กเมนต์

"โมบายอินเทอร์เน็ต" สุดบูม ค่ายมือถืองัดแพ็กเกจเจาะรายเซ็กเมนต์




ค่ายมือถือทั้งหลาย ยกเว้น "กลุ่มทรู" ต่างอึดอัดกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกับการลงทุนพัฒนาบริการ 3G บนคลื่นความถี่เดิม

ระหว่าง "เอไอเอสและดีแทค" เทียบ ยากว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบกว่า ด้วยมีข้อเด่นข้อด้อยต่างกัน เพราะพี่ใหญ่ "เอไอเอส" แม้เปิดบริการ 3G เก็บตังค์ได้มาแต่ไหนแต่ไร แต่ด้วยขีดจำกัดของคลื่น 900 MHz ที่มีอยู่เพียงน้อยนิดกับอายุสัมปทานที่เหลืออีกไม่กี่ปี การเดินหน้าลงทุนจึงอยู่บนพื้นฐานของความ จำเป็นต้องทำมากกว่า

ฟาก "ดีแทค" อัพเกรดบริการ 3G "HSPA" บนคลื่นเดิม 850 MHz ได้เช่นเดียวกับ "ทรูมูฟ" ก็จริง แต่ได้แค่ทดลองให้ลูกค้าใช้บริการฟรี ห้ามเก็บตังค์ (เว้นแต่จะยอมสละสิทธิการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการลงทุน กรณีมีการบอกเลิกสัญญาในอนาคต) ถ้าคิดในแง่ดีก้มหน้าก้มตาลงทุนไป เก็บตังค์ไม่ได้ก็ยังช่วยมัดใจลูกค้าไม่ให้หนีหายไปหา "ทรูมูฟ"

หลัง จากน้องเล็ก "ทรูมูฟ" ลุยเต็มสูบประกาศความเป็นผู้นำบริการ 3G ผ่านความร่วมมือในฐานะตัวแทนขายปลีกขายส่งบริการ 3G+ (3จี พลัส) จาก บมจ.กสท โทรคมนาคม ดำเนินการภายใต้แบรนด์ "ทรูมูฟ เอช" ด้วยแล้ว แค่ "เอไอเอส-ดีแทค" อยู่เฉย ๆ เท่ากับนับถอยหลังแล้ว ทุกค่ายจึงออกมาย้ำคล้ายกันว่ายังเดินหน้าพัฒนาบริการ 3G บนคลื่นเดิมต่อไป แม้ใจจริงจะอยากลงทุนบนคลื่นใหม่ ไลเซนส์ใหม่มากกว่า

จังหวะนี้จึง นับเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของทุกค่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ "ทรูมูฟ" ถือว่าเดิมพันสูง ยิ่งหวังใช้ 3G+ ภายใต้แบรนด์ทรูมูฟ เอช (Truemove H) ติดสปีดยกสถานะตนเองทั้งในแง่ฐานลูกค้า และการก้าวสู่ความเป็น "พรีเมี่ยม สมาร์ทโฟน โอเปอเรเตอร์" เพื่อสลัดภาพเบอร์ 3 ที่มีดีแค่ "ราคาถูก" ทิ้งไป

อย่างไรก็ตามสนามแข่งขันบนสมรภูมิ 3G ยังเพิ่งเริ่มต้น

ขณะ ที่ความนิยมในการใช้โซเชียล มีเดียผ่านสมาร์ทโฟนขยับมายังสารพัดแท็บเลตหลากยี่ห้อที่ทยอยออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็น "ไอแพด, กาแล็คซี่ แท็บ" และอื่น ๆ ล้วนแล้วแต่ผลักดันให้ปริมาณการใช้ "โมบายอินเทอร์เน็ต" ผ่านโครงข่ายโทรศัพท์มือถือเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้การใช้ดาต้าเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก แม้อีกนานกว่าสัดส่วนรายได้จะแซงเสียง (voice) ก็เถอะ แต่สมรภูมิการแข่งขันปัจจุบันก็พุ่งมายังการออกดาต้าแพ็กเกจเพื่อตอบสนอง ลูกค้ากลุ่มนี้

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ "ดีแทค" มีดาต้าแพ็กเกจ Faster Series ให้เลือก 3 แบบ ได้แก่ internet lite จับกลุ่มคนใช้งานน้อย ราคา 199 บาท/เดือน ฟรีอินเทอร์เน็ต 20 ชั่วโมง/เดือน โทร.ฟรีทุกเครือข่าย 100 นาที 3 เดือนแรก รับชั่วโมงใช้เน็ตเพิ่มเป็น 25 ชั่วโมง โทร.ฟรีเพิ่มเป็น 125 นาที ถัดมาเป็น smartphone combo 399 บาท/เดือน ฟรีอินเทอร์เน็ต 200 MB โทร.ฟรี 200 นาที แถม SMS 200 ข้อความ MMS 50 ข้อความ หรือร่วมกับซัมซุงออก Unlimited internet 299 ให้ลูกค้าที่ซื้อสมาร์ทโฟน กาแล็คซี่ทุกรุ่น เป็นต้น

แบบสุดท้ายเรียกว่า smartphone inFinite ใช้สมาร์ทโฟนทุกรุ่นได้หมด ทั้งไอโฟน, แอนดรอยด์ เดือนละ 699 บาท ใช้อินเทอร์เน็ตได้ไม่จำกัด มีโทร.ฟรี 350 นาที ฟรี SMS 400 ข้อความ MMS 75 ข้อความ

"ปกรณ์ พรรณเชษฐ์" ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า การใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือเติบโตขึ้นมากตามตลาดสมาร์ทโฟน เฉพาะดีแทคเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มียอดการใช้ดาต้าเพิ่มขึ้นถึง 102% จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 56% และมีจำนวนลูกค้าที่ใช้สมาร์ทโฟนในระบบเพิ่มขึ้น 28%

ด้าน "สุภกิจ วรรธนะดิษฐ์" หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าที่ใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตมีการเติบโตต่อเนื่องเช่นเดียวกับ ปริมาณการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้นมา ทำให้รายได้เป็นสัดส่วน 15% ของรายได้รวม คาดว่าปีนี้ตลาดน็อนวอยซ์ในประเทศไทยโดยรวมจะโตได้ถึง 20-30%

"น็อนวอยซ์ ถือเป็นตัวไฮไลต์ซึ่งทรูมูฟจะให้ความสำคัญมากในปีนี้ เราจะมี แพ็กเกจน็อนวอยซ์ออกมาเยอะ ทั้งแบบใช้งานไม่จำกัดและแพ็กเกจแบบจำกัดวอลุ่มในการใช้งานทั้งเน็ตซิมและ ดองเกิ้ล เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยผลักดันรายได้ของเราให้เติบโต ยอดผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นน่าจะเป็นตัวผลักดันให้ตลาดนี้เติบโตในแง่ การแข่งขัน ในภาพรวมน่าจะเน้นไปที่คุณภาพของสัญญาณ ไม่ใช่ราคา เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ยังมีจำกัด เป็นกลุ่มที่มีฐานะเน้นคุณภาพเครือข่าย ราคาจึงน่าจะยังอยู่ระดับเดิมไม่ได้ปรับลง"

ฟาก "เอไอเอส" ประเมินว่า การใช้ โมบายอินเทอร์เน็ตในปีนี้จะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน โดยในแง่ปริมาณการใช้ดาต้าและคอนเทนต์ต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้นถึง 27% ส่วนจำนวนผู้ใช้บริการน่าจะมากขึ้น 15% ขยับจาก 7.5 ล้านราย เป็น 9 ล้านราย ภายในสิ้นปีนี้

"ปรัธนา ลีลพนัง" ผู้ช่วยกรรมการ ผู้อำนวยการ สายงานบริการเสริม บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า ลูกค้าโมบาย อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นของเอไอเอสมี 2 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน กลุ่มแรกใช้ดาต้าการ์ด กลุ่มนี้มีสัดส่วนประมาณ 15% ของทั้งหมด อีกกลุ่มใช้งานผ่านโทรศัพท์ มือถือ แบ่งได้ 2 พวก พวกแรกใช้สมาร์ทโฟนอย่างไอโฟน, แบล็คเบอร์รี่ หรือแอนดรอยด์ เลือกใช้แพ็กเกจ Unlimited กลุ่มนี้มีประมาณ 5% อีกกลุ่มใช้เครื่องระดับรองลงมาก็จะเลือกใช้แพ็กเกจเล็กลงไป ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่

"การแข่งขันในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ทำให้แนวโน้มราคาของดาต้าแพ็กเกจถูกลงได้อีก แต่ไม่ใช่ราคาโดยรวม เป็นการออกแบบแพ็กเกจเพื่อเจาะลงไปยังเซ็กเมนต์ต่าง ๆ เช่น กลุ่มคนใช้ BB แชตหรือวัน-ทู-คอลมีแพ็กเกจแชตกับโนเกีย คือพาร์ตเนอร์บางรายต้องการผลักดันยอดขายเครื่องทำให้เกิดบิสซิเนสโมเดลใหม่ มีการนำกำไรจากแฮนด์เซตมาส นับสนุน ทำให้ลดราคาลงได้"

"ปรัธนา" ทิ้งท้ายน่าคิดว่า ตัวแปรสำคัญที่มองข้ามไม่ได้คือ "ทรูมูฟ เอช" หากต้องการมาร์เก็ตแชร์มากก็น่าจะมีแคมเปญส่งเสริมการขายแรง ๆ ออกมาจูงใจลูกค้า ซึ่งอาจผลักดันให้ดีกรีการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น

นาทีนี้จึงต้องรอดูการเข้าสู่ตลาดของ "ทรูมูฟ เอช"



http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1302323211&grpid=&catid=06&subcatid=

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น