ประชาแลกหมัด! ปูดถุงยังชีพปชป. แพงกว่ารบ.ชุดนี้
เปิดเวทีซักฟอก 'ประชา' โดย 'จุรินทร์' ย้ำ 3 ข้อกล่าวหา ทั้งบริหารน้ำผิดพลาด ทำผิด รธน. และซื้อถุงยังชีพไม่โปร่งใส ด้าน 'ประชา' อ้างถุงยังชีพซื้อก่อนตั้ง ศปภ. พร้อมโวมีหลักฐานสมัยรัฐบาล ปชป.แพงกว่า..
เมื่อเวลา 09.40 น. วันที่ 27 พ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล คือ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคณะจำนวน 153 คน เป็นผู้เสนอ มีนายเจริญ จรรโกมลย์ รองประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม มีคณะรัฐมนตรีนั่งอยู่บนบัลลังก์ โดยได้แจ้งว่า เอกสารที่ใช้ประกอบการอภิปราย ต้องผ่านคณะกรรมการตรวจสอบ ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายค้านและรัฐบาล ข้าราชการ
ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) รับมอบหมายจาก นายอภิสิทธิ์เสนอญัตติอภิปราย โดยนายจุรินทร์กล่าวว่า พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลได้วิจารณ์ว่า การยื่นญัตติของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ เป็นความพยายามลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล นำไปสู่การล้มล้างรัฐบาล ข้อกล่าวหานี้ปราศจากความจริงโดยสิ้นเชิง เพราะไม่ใช่การอภิปรายนายกรัฐมนตรี หากมีการลงมติไม่ไว้วางใจ มีผลแค่ พล.ต.อ.ประชา พ้นจากตำแหน่ง ไม่มีผลกับรัฐบาลทั้งคณะ ฝ่ายค้านจำเป็นต้องทำหน้าที่ โดยเหตุผลในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะมีพฤติกรรมการกระทำทุจริต จงใจทำผิดรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย บริหารราชการแผ่นดินบกพร่อง ไร้ประสิทธิภาพ ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต บริหารราชการโดยขาดจริยธรรม คุณธรรม เพื่อประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่ม ทำให้ประชาชนเดือดร้อน นำไปสู่ความแตกแยกรุนแรง หากปล่อยไป ประชาชนจะเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุด
ทั้งนี้ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในการทำหน้าที่ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. พล.ต.อ.ประชามีพฤติกรรมบริหารราชการแผ่นดินบกพร่อง ทั้งเรื่องการบริหารเงิน คน สิ่งของ ปล่อยให้มีคนเข้ามาแทรกแซงการบริหาร ทั้งโดยพฤตินัย และนิตินัย จงใจทำผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำทุจริต ทั้งเงินงบประมาณและเงินบริจาค บริหารจัดการน้ำล้มเหลว ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด รวมไปถึงบริหารน้ำในเขื่อนผิดพลาด ทั้งการจัดเก็บ การระบาย ให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ จึงเกิดสารพัดโมเดล แต่ล้มเหลว การที่ พล.ต.อ.ประชา มาทำหน้าที่ ผอ.ศปภ.จึงเกิดความงุนงงว่า ทำไมจึงนำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมาแก้น้ำท่วม คิดได้เหตุผลเดียว คือ ต้องการกระจายน้ำไปทุกแห่งอย่างยุติธรรม
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ปัญหาน้ำไม่ได้เกิดจากธรรมชาติอย่างเดียว แต่การบริหารจัดการภายใต้ ศปภ.ล้มเหลว ไปล้นอยู่ที่เจ้าพระยาด้านเดียว จึงมีเสียงวิจารณ์ว่า เพราะ ผอ.ศปภ.ปล่อยให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญ ข้าราชการที่มีหน้าที่ มีความรู้ ต้องไปอยู่แถวหลัง นักการเมืองเข้ามา เอาแต่ปกป้องพื้นที่ตนเอง มีการแต่งตั้ง ส.ส.และคนในพรรคเดียวกันกับ ผอ.ศปภ.เข้ามาเป็นคณะกรรมการ
นอกจากนี้ มีการจัดทัพสะเปะสะปะ เช่น มีคำสั่งแต่งตั้งแล้วยกเลิกคำสั่ง โดยมีเอกสารการแต่งตั้งหลายคำสั่ง นอกจากนี้มี ส.ส.กทม.ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงคนหนึ่ง สั่งการให้เจ้าหน้าที่มาปฏิบัติหน้าที่ที่ ศปภ. ทั้งที่ ส.ส.คนดังกล่าวไม่มีอำนาจในการสั่งการใน ศปภ. เรื่องนี้เป็นการเน้นย้ำว่า พล.ต.อ.ประชาปล่อยปละละเลยให้ ส.ส.เข้าไปแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการจริง
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า มีเอกสารการจัดซื้อเต็นท์จำนวน 700 หลัง ในความรับผิดชอบของ ศปภ.ระบุผู้รับสินค้า เมื่อตรวจสอบแล้วมีลายเซ็นคล้าย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเดียวกับ พล.ต.อ.ประชา และมีการระบุรหัสลูกค้าชัดเจนว่าเป็นใคร โดยมีเอกสารที่ได้จากเจ้าหน้าที่ติดตามรายจ่ายงบประมาณ ศปภ.ส่งมาให้ นอกจากนี้ ผอ.ศปภ.ปล่อยให้ ส.ส.แทรกแซงเจ้าหน้าที่ ทั้งในเรื่องนำประชาชนพังคันกั้นน้ำ เปิดปิดประตูระบายน้ำ จัดการของบริจาคโดยการกระทำผิด ไม่รู้ว่าเป็นการจงใจไม่รู้ หรือเมาหมัด เพราะเมื่อพบว่ามีการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 และ 266 คือ ส.ส.ต้องไม่ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานของรัฐ เมื่อศปภ.ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน จึงถือเป็นหน่วยงานของรัฐ เมื่อส.ส.เข้าไปดำรงตำแหน่ง เท่ากับผิดรัฐธรรมนูญ โดยมีการตั้ง ส.ส. 4 คน คือนายการุณ โหสกุล นายสุรชาติ เทียนทอง นายวรชัย เหมะ และนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย เป็นคณะกรรมการบริหารจัดการถุงยังชีพ และเครื่องอุปโภคบริโภค ถึงแม้ต่อมามีการยกเลิกคำสั่ง ก็ไม่พ้นจากการทำผิดรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว และมีการยอมรับชัดเจนว่าทำผิด ที่สำคัญ รมว.ยุติธรรมต้องเป็นตัวอย่างในการไม่ทำผิดกฎหมาย
การที่ พล.ต.อ.ประชา ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้จัดซื้อถุงยังชีพนั้น ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธ เพราะ ศปภ.เป็นหน่วยบัญชาการหน่วยงานภาครัฐ มีอำนาจครอบจักรวาล มีอำนาจอนุมัติงบประมาณ เพราะมีการอนุมัติงบจัดซื้อเรือของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นอกจากนี้ประชาชนเห็นว่าของในถุงยังชีพ 800 บาท ข้าวสาร 5 เปอร์เซ็นต์ ซื้อมาได้อย่างไรถึง 192 บาท เพราะในตลาดไม่เกิน 100 บาท
"สำหรับในฐานะ รมว.ยุติธรรม พล.ต.อ.ประชา มีพฤติกรรมไม่โปร่งใสในการบริหารในกระทรวงยุติธรรม กรณีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษล้มนิติธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนๆ เดียว โดยการที่ตัดสินใจอภิปรายเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ เกี่ยวกับความสงบสุขของประเทศในปัจจุบันและอนาคต ต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบ ดังนั้นหากไม่อภิปราย อาจเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่" นายจุรินทร์ กล่าว
จากนั้น พล.ต.อ ประชา ชี้แจงว่า ฟังการอภิปรายของนายจุรินทร์แล้วรู้สึกไม่สบายใจ ในเรื่องของการอภัยโทษ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องลับ ต้องรอพระราชวินิจฉัย สมควรหรือไม่ที่เอามาพูดในที่นี้ ทั้งนี้เคยพูดแล้วว่า ไม่มีอะไรแอบแฝง หรือเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลใด ทำตรงไปตรงมา ให้เกียรติ รมว.ยุติธรรมคนเดิม ที่ได้ลงนามไว้ในวันที่ 5 ส.ค.2554 โดยขณะนั้น นายพีระพันธุ์ไม่มีอำนาจลงนาม เพราะเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว ทั้งนี้ ข้อสงสัยของนายจุรินทร์ เป็นการคิดไปเองหรือไม่ ว่าคนๆ หนึ่งจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ยังติดยึด ยังมีอคติกับคนหนึ่ง ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย และขอหารือกับประธานว่า หากมีการอภิปรายเรื่องนี้ ใครจะรับผิดชอบ จะเป็นการนำสิ่งไม่บังควรมาอภิปรายหรือไม่ จะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทหรือไม่
ในเรื่องการเป็น ผอ.ศปภ.รู้สึกว่าข้อกล่าวหาหนักเกินไป โดยเฉพาะเรื่องการทุจริตคอรัปชัน เพราะถุงยังชีพ จัดซื้อก่อนมี ศปภ. รายละเอียดได้ให้กรรมาธิการไปหมดแล้ว โดยข้าราชการที่ทำงานใน ศปภ.ต้องมัวแต่นำเอกสารไปชี้แจงกรรมาธิการ ไม่เป็นอันทำงาน ชาวบ้านเดือดร้อนจะเป็นจะตาย แต่คนทำงานต้องไปชี้แจงกรรมาธิการงบประมาณ นอกจากนี้มีหลักฐานถุงยังชีพสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ราคาแพงกว่าของรัฐบาลนี้
ต่อมา นายอภิสิทธิ์ อภิปรายว่า อยากให้ประธานสภาฯ และ รมว.ยุติธรรมสบายใจได้ เพราะจะไม่ไปก้าวล่วงพระราชอำนาจ หรือทำอะไรระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท อำนาจหน้าที่ของทุกฝ่ายนั้น กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การตราพระราชฎีกาเป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดย รมว.ยุติธรรม เป็นผู้ถวายคำแนะนำ ฝ่ายค้านจะไม่ไปก้าวล่วงในการนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ แต่สิ่งที่จะอภิปราย คือ รัฐบาลพึงนำสิ่งดีๆ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นายพีระพันธุ์ กล่าวโดยใช้สิทธิพาดพิงว่า กรณีที่ พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า ตนได้ลงนามร่าง พ.ร.ฎ.ในวันที่ 5 ส.ค.นั้น เป็นการลงนามในเรื่องที่มีการทำงานต่อเนื่อง ที่ได้ให้แนวทางไว้ตั้งแต่ต้นปี ไม่ได้เป็นการลงนามเห็นชอบนโยบาย โดยได้สอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว
โดย: ทีมข่าวการเมือง
27 พฤศจิกายน 2554, 17:22 น.