วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2554

“วันสตรีสากล” ควรเปลี่ยน เป็นวัน “มนุษย์สากล” ได้แล้ว

ทำไมควรยกเลิกวันสตรีสากล

การมีวันนี้ ดูเหมือนกับเรายอมรับว่า ปัญหาการกดขี่ ความไม่เสมอภาคกันระหว่างชายหญิง เกิดจากการไม่เสมอภาค ทางเพศ ทั้งที่จริงแล้ว เราจะเห็นว่า ในสังคม ความเป็นเพศไม่ได้ทำให้เกิดความไม่เสมอภาค เราจะเห็นว่ารอบตัวเรา มีคนงานชายมากมายมีเจ้านายเป็นผู้หญิง มีผู้หญิงมากมายกดขี่ผู้ชาย และมีผู้ชายผู้หญิงมากมายกดขี่กันเอง ถ้าความเป็นเพศกดขี่ได้จริง ทำไมผม ไปกดขี่ ดารานักร้องสาวสวยไม่ได้

ในอดีต ต้องยอมรับว่าการใช้แรงงานส่วนใหญ่ใช่แรงงานชาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชายจะเป็นใหญ่เป็นส่วนมาก ผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลบ้าน เลี้ยงลูกและสนองอารมณ์ ทางเพศของชายเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแม้แต่ในอดีตก็ตาม ครอบครัวแต่ล่ะครอบครัว ก็มีระดับการกดขี่สตรีที่ต่างกัน ครอบครัวที่ทางฝ่ายชายและฝ่ายหญิงมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่พอๆ การกดขี่ระหว่างเพศจะเกิดน้อยมาก แต่ที่มีการกดขี่สตรีในอดีตส่วนใหญ่เกิดจาก การกดขี่ของฝ่ายชายที่ เป็นเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งมีอำนาจทางเศรษฐกิจ แทบทั้งสิ้น หากเจ้าขุนมูลนายเป็นผู้หญิง ผู้หญิงก็สามารถกดขี่ทาสที่เป็นชายได้เช่นกัน ถ้าความเป็นเพศ ทำให้อีกเพศกดขี่อีกเพศได้จริง คงเห็นทาสชาย ลุกขึ้นมาจับ เจ้านายผู้หญิงทำเมีย

ปัจจุบัน ระบบการผลิตทำให้ผู้หญิงอยู่ในกระบวนการผลิตมากขึ้น ผู้หญิงในความเป็นจริง มีความเสมอภาคกับชายในระดับหนึ่งแล้ว เพียงแต่ว่า ความรู้สึกของผู้หญิงบางส่วนเอง ยังรู้สึกว่าตัวเอง ต่ำต้อยกว่าชาย ทั้งที่ หากมองเรื่องเศรษฐกิจ หญิงกับชายอาจมีอำนาจไม่ต่างกัน ผู้หญิงเองก็หลงไหลกับความเป็นผู้หญิง ที่ซากวัฒนธรรมยุคทาส เหลือทิ้งไว้ให้ เพราะผู้หญิงบางคน ยังคิดว่าต้องหาผัวรวยๆ มาเลี้ยงดู ทั้งๆ ที่ตัวเองก็มีความสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ผู้หญิงบางส่วนเองก็ยินดีที่จะรับประโยชน์ จากระบบที่คุณเรียกว่าชายเป็นใหญ่ (อันที่จริงไม่ว่าชายหรือหญิงมันก็อยากได้เมียรวยกันทั้งนั้น) ผู้หญิงเหล่านี้ ต้องลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า ในความเป็นจริงมีแต่เพศหญิงที่ถูกกดขี่ หรือ ถูกกดขี่เพราะมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าอีกฝ่ายที่เป็นชาย และที่ผู้หญิงบางกลุ่ม ออกมาพูดว่าไม่เสมอภาคกับเพศชายอยู่นี้ ก็เพื่อเพียงต้องการประโยชน์ ที่คุณใช้ความเป็นเพศหญิงมาอ้าง เพื่อที่จะหาข้อได้เปรียบจากการที่เป็นเพศหญิง เท่านั้น

หากจะทำให้มี ความเสมอภาคระหว่างเพศ จริงๆ ผู้หญิงเองก็ต้องลุกขึ้นมาสู้ และทำให้เหมือนชาย โดยไม่ต้องสนใจจารีตโบราณ เช่น ผู้หญิงอาจจะต้องมาขอผู้ชายแต่งงาน หรือ จีบผู้ชาย หรือ มีเซ็กส์กับผู้ชายโดยไม่เรียกร้องทรัพย์สิน (ยกเว้นอาชีพบริการ) หรือ ในครอบครัว ผู้หญิงอาจจะต้อง ลองบังคับผู้ชายเมื่อต้องการเซ็กบ้าง หรือกล้าที่จะบอกว่า กูไม่มีอารมณ์

และที่สำคัญผู้หญิงต้อง เรียกร้องให้มีการแก้กฏหมายให้มีความเสมอภาค รวมทั้งกฎจารีต อย่างเช่น ความเชื่อทางศาสนา ไม่ว่าการบวช หรือ สิทธิอื่นๆ ที่มีการยอมรับให้แต่ฝ่ายชาย ไม่ใช่มาแค่มา ตะโกนว่า "กูถูกผู้ชายกดขี่นะคะ"

จะทำให้มีความเสมอภาคจริง เราต้องสู้มากกว่า เรื่องเพศ เราต้องสู้ให้เรามีอำนาจทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปด้วย และเราควรยกระดับการต่อสู้ เป็นการต่อสู้ เพี่อความเสมอภาค ของ "มนุษย์" เพราะคนอ่อนแอไม่ได้มีแต่เพศหญิง เพศชายหรือเพศที่3 ดังนั้น "วันสตรีสากล" ควรเปลี่ยน เป็นวัน "มนุษย์สากล" ได้แล้วครับ

เชิญร่วมแลกเปลี่ยนครับ เนื่องในวันสตรีสากล

ปล.การเขียนบันทึกนี่ กลับบ้านจะโดนคนที่บ้านตบกระบาลหรือป่าววะนี่ 5555


https://prachatai3.info/journal/2011/03/33459

100 ปี สตรีสากล เครือข่ายสตรีชายแดนใต้ร้องรัฐ-สื่อ-สังคม คืนชีวิตปกติสุข

100 ปี สตรีสากล เครือข่ายสตรีชายแดนใต้ร้องรัฐ-สื่อ-สังคม คืนชีวิตปกติสุข

13 มีนาคม 2554 เครือข่ายสตรีภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ออกแถลงข้อเรียกร้องเนื่องในวันครบรอบวันสตรีสากล รีบแก้ไขสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังสตรีเสียชีวิตโดยตรงจากสถานการณ์รวม 289 คน และได้รับบาดเจ็บอีกจำนวน 1,310 คน โดยแถลงการณ์มีข้อเรียกร้อง มีดังนี้

 

ข้อเรียกร้องของเครือข่ายสตรีภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้

ในโอกาสครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากลสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่า 7 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์กว่า 4,000 คน บาดเจ็บกว่า 7,000 คน เป็นสตรีที่ต้องสูญเสียสามี ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวกว่า 2,000 ครอบครัว ซึ่งต้องดูแลบุตรที่กำพร้าพ่อ ไม่น้อยกว่า 5,000 คน และยังมีสตรีที่ได้รับผลกระทบจากการที่สามี หรือสมาชิกในครอบครัว ต้องคดีความมั่นคงอีกกว่า 7,000 ครอบครัว สภาพดังกล่าวนี้ นับเป็นภาระที่สตรีต้องเผชิญ ซึ่งหนักหน่วงกว่าสตรีในพื้นที่ใดๆของประเทศนี้

ในวาระครบรอบ 100 ปี วันสตรีสากล สตรีจากทั่วทุกแห่ง ได้มีโอกาสเฉลิมฉลอง พร้อมกับส่งเสียงแห่งความ ทุกข์ยาก และเสนอข้อเรียกร้องที่ต้องการมีชีวิตที่ดีกว่า ให้คนทั้งประเทศ และทั่วทุกมุมโลกได้รับฟังและสนับสนุนมา ตั้งแต่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา และตลอดต่อเนื่องในดือน อันเป็นวาระโอกาส ที่มีความหมายสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

พวกเรา เครือข่ายสตรีภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งเป็นสตรีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ และสตรีที่ร่วมขับเคลื่อนงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพในพื้นที่ ขอร่วมเสนอข้อเรียกร้อง ดังนี้

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคง
1. รีบแก้ไขและควบคุมสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทวีความรุนแรงมากยิ่ง ขึ้นในขณะนี้ ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีพได้อย่างปลอดภัย ไม่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว และหวาดระแวง

2. ปกป้อง และคุ้มครองทุกชีวิต ไม่ให้มีการสูญเสียเกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะการสูญเสีย ทำให้สตรี โดยเฉพาะผู้เป็นแม่และเมีย ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบาก และกลายเป็นผู้ต้องแบกรับภาระและผลกระทบอันหนักหน่วงตามมาเช่นที่เป็นอยู่ใน ปัจจุบัน และรัฐบาลเองก็ต้องแบกรับภาระทางงบประมาณในการเยียวยาเช่นที่ดำเนินการมา หลายปี

3. เพิ่มมาตรการพิเศษในการปกป้องคุ้มครองสตรี ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ที่นับวันได้กลายเป็นเหยื่อโดยตรงของสถานการณ์ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีสตรีที่เสียชีวิตโดยตรงจากสถานการณ์รวม 289 คน และได้รับบาดเจ็บอีกจำนวน 1,310 คน

4. มาตรการด้านความมั่นคงใดๆที่ใช้ต่อบุรุษ ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือเยาวชนที่อยู่ภายใต้การดูแลของสตรี ขอให้ยึดหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อสตรีและครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ ได้

ข้อเรียกร้องต่อสื่อมวลชนและสื่อทางเลือก
1. คำนึงถึงผลกระทบในการนำเสนอข่าวสาร ที่จะทำให้เกิดความบาดหมางและแตกแยกระหว่างประชาชน ที่นับถือศาสนาพุทธ และอิสลาม เพราะปัจจุบัน ประชาชนทั้งสองศาสนา ล้วนเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความรุนแรง

2. นำเสนอข่าวสารที่จะช่วยทำให้คนในประเทศ เข้าใจรากเหง้าและความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์ มากกว่าปรากฏการณ์รายวัน รวมทั้งเพิ่มพื้นที่การนำเสนอข่าวสาร ความเคลื่อนไหว มุมมองของสตรีและภาคประชาสังคมในการคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรง

ข้อเรียกร้องต่อสตรีและชุมชนสังคมชายแดนใต้
1. ขอให้เท่าทันต่อสถานการณ์ความรุนแรง ไม่ส่งเสริม ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจากฝ่ายใด

2. ใช้แนวทางสันติวิธีในการต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเรียกร้องที่ต้องการ หรือเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม



                                                   เครือข่ายสตรีภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้
                                                                               วันที่ 13 มีนาคม 2554